RSS

รีวิวรถไฟฟ้า MRT จาการ์ตา

เล่าเรื่องเบื้องหลังสักเล็กน้อยครับ

รถไฟฟ้า MRT สายแรกของจาการ์ตาเริ่มเปิดทดลองวิ่งช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปในเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนเมษายน โดยเก็บค่าโดยสารครึ่งราคา ต่อมา จึงเก็บค่าโดยสารเต็มราคาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เองครับ

รถไฟฟ้าสายแรกของเมืองหลวงอินโดนีเซียมีความยาวทั้งสิ้น 15.7 กิโลเมตร มีสถานี 13 สถานี แบ่งเป็นสถานีบนดิน 7 สถานี และใต้ดินอีก 6 สถานี วิ่งแนวเหนือ-ใต้ จากสถานี Lebak Bulus (เลบัก บูลุส) ที่อยู่ทางตอนใต้ของจาการ์ตา ไปสุดสายที่สถานี Bundaran HI (บุนดารัน ฮาอี)

ถามว่าสถานที่ที่น่าสนใจที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มีอะไรบ้าง (ในมุมมองของผมเองนะครับ ไม่ได้อ้างอิงเอกสารหลักฐานทางการอะไรทั้งสิ้น)

(1) สถานี Bundaran HI เป็นที่ตั้งของแลนด์มาร์กที่มักจะพบเห็นเมื่อเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับจาการ์ตา นั่นก็คือวงเวียน Hotel Indonesia หรือวงเวียน Selamat Datang วงเวียนใหญ่กลางเมือง มีห้างสรรพสินค้า Grand Indonesia และ Plaza Indonesia ที่เปรียบเสมือนพารากอน-เกษร ของกรุงเทพฯ ให้เดินเล่นคลายร้อน และเชื่อมต่อกับโรงแรม Kempinski (ยิ่งเหมือนพารากอนเข้าไปใหญ่) ซึ่งเดิมชื่อ Hotel Indonesia ที่มาของชื่อสถานี และวงเวียนที่กล่าวถึงข้างต้นนั่นเองครับ

(2) สถานี Dukuh Atas BNI (ดูกูฮ์ อะตัส เบ เอ็น อี) เป็นสถานีที่สามารถเดินต่อไปยังสถานีรถไฟ BNI City ที่วิ่งตรงไปสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตาได้โดยใช้เวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น (ตามคำโฆษณาเขาบอกมา หากผมได้ลองนั่งแล้วจะมารีวิวนะครับ)

(3) สถานี Senayan ต้องพูดถึงสักหน่อยเพราะใกล้ที่ทำงานผม (ไม่ใช่ละ) ที่สำคัญก็คือเป็นที่ตั้งของสนามกีฬา Gelora Bung Karno สนามกีฬาระดับชาติที่เคยจัดกีฬาเอเชียนเกมส์มาแล้วสองครั้ง ในปี 1962 และ 2018 ที่เพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ เป็นที่ตั้งของห้างเดินสบาย ๆ อย่าง Plaza Senayan และ Senayan City รวมถึงย่านธุรกิจการค้า อาคารสำนักงาน Sudirman Central Business District หรือ SCBD ชอปปิงชิค ๆ หาของกินดื่มคูล ๆ ก็มาแถวนี้ได้ครับ

(4) สถานี ASEAN เป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการอาเซียน หรือ ASEAN Secretariat สถานที่สำคัญของพวกเราทุกคนที่เป็นประชาชนชาวอาเซียนเลยนะครับ 😀

(5) สถานี Blok M ดูยังไงสถานีนี้ก็มีลักษณะคล้ายสถานีสยามบ้านเรา แต่ไม่พลุกพล่านเท่าและไม่ได้เป็นสถานี Interchange ที่นี่ก็เป็นที่ที่มีร้านอาหารญี่ปุ่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น และเป็นท่ารถเมล์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจาการ์ตา เอาว่า ก้ำกึ่งระหว่างสยามกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิล่ะครับ

วิธีการใช้งาน

ในช่วงแรกนี้ มีบัตรแบบเดียวให้ซื้อได้ครับ เป็นบัตรโดยสารที่เราต้องจ่ายค่ามัดจำไปก่อน Rp 15,000 (33 บาท) และก็เติมเงินเอาตามสถานีปลายทางที่เราจะไป ใกล้สุดราคา Rp 3,000 (6.70 บาท) และสุดสายอยู่ที่ Rp 14,000 (31 บาท) ฉะนั้น สมมติว่า เราอยากนั่งจาก Lebak Bulus ไป Bundaran HI ก็ต้องจ่าย Rp 15,000 + 14,000 = Rp 29,000 โดยบัตรโดยสารนี้เราก็เก็บไว้เติมเงินไปนู่นไปนี่ได้เจ็ดวันก่อนหมดอายุ หากใช้เสร็จอยากได้เงินมัดจำคืน ก็อย่าลืมไปแลกคืนด้วยภายในเจ็ดวันนะครับ

อย่างไรก็ดี มีอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกมาก คือที่อินโดนีเซียจะมีบัตรเติมเงิน e money ของธนาคารต่าง ๆ ที่เอาไปใช้จ่ายค่าทางด่วน จ่ายเงินในซุปเปอร์มาร์เก็ต และแน่นอน เอามาจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ด้วย ระบบก็จะหักจากเงินที่เราเติมไว้ สะดวกมาก ๆ และไม่ต้องต่อคิวครับ หน้าตาเหมือนในรูป แค่แตะก็ใช้ได้เลย คล้าย ๆ บัตรแรบบิท แต่ใช้ได้หลายที่มากกว่าครับ

ความเห็นผมนะครับ
– โดยรวมก็ถือว่าขึ้นง่ายดี มีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้ผู้มาใช้งาน รถค่อนข้างสะอาด เพราะห้ามทานอาหาร ดื่มน้ำในรถ ยกเว้นช่วงเดือนรอมฎอน ที่ให้ละศีลอดประจำวันได้ในขบวนรถ

– ป้ายบอกทางออก ไม่ค่อยชัดเจน ไม่แน่ใจว่าออกไปแล้วจะขึ้นไปเจออะไร เพราะบอกแต่ชื่อถนน ขาจร อาจจะสับสนได้ง่าย ช่วงแรกควรเปิด google map คู่กันไป

– จากที่สังเกต เหมือนบีทีเอสตอนเปิดใหม่ ๆ ที่มีคนมาขึ้นเพื่อทดลองนั่ง มากกว่าใช้งานจริง อาจจะเป็นเพราะตึก อาคารโดยรอบสถานียังปรับตัวไม่ทัน รออีกนิดนึงน่าจะคับคั่งกว่านี้ครับ

 

คนกลม ๆ

ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินแนวคิดหยิน-หยาง หรือแนวคิดในทำนองเดียวกันมามากแล้ว ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้อ่านเกี่ยวกับแนวคิดนี้แล้วก็เข้าใจ แต่เป็นความเข้าใจแบบผิวเผิน คือเข้าใจว่าอ๋อ ทุกอย่างต้องสมดุลกัน ไม่มาก ไม่น้อย แล้วก็เท่านั้น ไม่ได้คิดอะไรต่อ

ตั้งแต่เรียนจบและทำงานมาได้พักหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ใช้เวลาคิดเกี่ยวกับปรัชญาในการใช้ชีวิตของผมอยู่เป็นระยะ ผมคิดว่า การเป็นคนกลม ๆ น่าจะสะท้อนปรัชญาในการใช้ชีวิตของตัวผมเองได้ดีที่สุด

แล้วคนกลม ๆ ของผมเป็นอย่างไร

– ในเรื่องการเรียน การหาความรู้ ผมไม่ชอบการจำกัด หรือตีกรอบทิศทางการเรียนรู้ ออกเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ ผมเชื่อว่าความรู้และทักษะที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งหมดคือ ศาสตร์ หรือ “science” ที่มันไหลและเอื้อต่อกันทั้งหมด เช่น สมมติอยากจะเป็นเชฟ ความรู้ในเรื่องชีววิทยาของสัตว์ต่าง ๆ จะไปหาเนื้อชนิดนี้ได้จากที่ไหน สัตว์กินอะไร พืชชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอย่างไร ก็สำคัญไม่แพ้ทักษะในการทำอาหาร สมมติอยากจะเป็นนักเขียน หรือนักเขียนบทละคร ความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมจะทำให้เรื่องที่เราเขียนนั้นสมจริงมากขึ้น มีความหมายและเข้าถึงผู้อ่าน ผู้ชมได้มากขึ้น แม้แต่จะเป็นแพทย์ ก็ควรจะมีความรู้เรื่องกฎหมาย นิติปรัชญา ว่าทำไมคนในสังคมถึงตั้งกฎเกณฑ์กันเช่นนี้

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างกระผีกหนึ่งที่อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า สำหรับผม รอบตัวเราคือศาสตร์ ที่เราไม่ควรจำกัดว่าเราเรียนสายศิลป์ เรื่องนี้เราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้

– ถัดมาก็คงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่นกัน ผมคิดว่าการเรียนสำคัญนะ แต่สำคัญเพื่อให้เรามีทักษะในการต่อยอด เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เท่านั้น การเรียนที่ดี น่าจะเป็นการสอนให้เราหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง สอนทักษะการคิด แล้วเราจะไปได้รอบตัว

– เมื่อเติบโตขึ้น ผมพยายามจะใช้ชีวิตแบบกลม ๆ พยายามรู้หลาย ๆ ด้าน และพยายามศึกษาอย่างจริงจังให้รู้ลึกพอสมควร ให้ชีวิตมีทักษะหลาย ๆ แบบ (แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่หลายด้าน แต่ก็พยายามอยู่ครับ ) อีกอย่างที่สำคัญที่เรียนรู้จากการใช้ชีวิตอยู่ในหลาย ๆ ประเทศก็คือผมไม่ได้รู้สึกยึดติดกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งเป็นพิเศษ แต่พยายามเอาสิ่งที่คิดว่าโอเค และเหมาะสมกับผม เข้ามาอยู่กับตัว กินอาหารหลากหลาย ไม่ได้คิดว่าที่ไหนแย่ไปเสียหมด หรือดีไปเสียหมด

จะให้นิยามคำว่า “กลม ๆ” ก็คงนิยามออกมายาก แต่ก็เป็นประมาณนี้

ตอนนี้คิดได้ประมาณนี้ อีกสิบปียี่สิบปี จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ผ่านมา ปรัชญานี้ก็ทำให้ใช้ชีวิตอย่างไม่รู้สึกเหนื่อยหรือลำบากเกินไปนักล่ะครับ

 

ส่งการบ้าน

หลังจากที่ผมสอน Writing ที่สถาบันภาษาแถวพญาไทมาได้ระยะหนึ่ง ผมก็สังเกตว่ามีน้องนักเรียนคนนึงส่งการบ้านอย่างน้อย 4 – 5 ชิ้นต่อครั้ง และหลายชิ้นเป็นหัวข้อที่น้องไปหามาทำเอง ส่งแบบนี้ทุกสัปดาห์

ผมอมยิ้ม และเหมือนจะตื่นเต้นทุกครั้งที่รับการบ้านมาตรวจ อยากรู้ว่าวันนี้น้องจะส่งกี่ชิ้น จะมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง

ผมจำได้ว่าน้องเคยสะกด “clearly” ผิดเป็น “cleary” งานที่ส่งมาพร้อม ๆ กัน 4-5 ชิ้นนั้น หากมีคำนี้ ก็จะสะกดผิดเหมือน ๆ กันหมด และผมก็ได้แก้ไปในงานทุกชิ้นที่มีคำผิด

ล่าสุด น้องเขียนไม่ผิดแล้ว และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ก็ดีขึ้นมาก และน้องก็ยังคงส่งงานทีละ 4-5 ชิ้นเสมอ

ผมอมยิ้ม แล้วคิดถึงสมัยไปเรียนที่อังกฤษใหม่ ๆ ในชั้นเรียนระดับ A-Level (มัธยมปลายก่อนเข้ามหาวิทยาลัย) อาจารย์ให้เขียน essay ในวิชาประวัติศาสตร์ คำถามเค้าถามเกี่ยวกับผลกระทบของอะไรบางอย่างในสมัยพระเจ้าซาร์ยุคหลัง ๆ ผมเองก็จำคำถามไม่ได้แน่ชัด แต่สิ่งที่ผมเขียน คือผมเริ่มต้นจากการเขียนร่ายยาวว่า รัสเซียเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ … จำได้ว่า ครูเอาปากกา กากบาทเนื้อหากว่าค่อนหน้ากระดาษแล้วบอกว่า ข้อมูลตรงนี้ ไม่เกี่ยวกับคำตอบ ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะเอามาใส่ ผมเคยถามว่า แล้วอันนี้จะได้คะแนนเท่าไหร่ อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ทำมันให้คะแนนไม่ได้เลย

ผมตกใจมากครับ ก็เขียนไปตั้งเยอะตั้งแยะ…ใกล้สอบแล้วด้วย เหลืออีกเดือนสองเดือนเอง แล้วที่อังกฤษสอบแค่ปีละครั้งเดียว

หลังจากนั้น ผมก็ไปหาอาจารย์ทุกวันนอกเวลา เขียนไปให้อ่านวันละ 3-4 ชิ้น จนสอบมาก็ได้คะแนนดีเป็นที่น่าพอใจ

ผมก็เคยยิ้ม ๆ แล้วพูดกับตัวเองว่า นี่คงเป็นเวรกรรมสินะ แต่ก็เป็นกรรมที่ยินดีชดใช้ ผมดีใจที่ผมได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ บางชิ้น น้องเค้าก็ทำได้ดีมาก ผมก็เขียนไปว่า ให้จำแบบนี้ไว้เป็นตัวอย่าง

เลยอยากจะเอามาเล่าด้วยความชื่นชมในความขยันและตั้งใจ และผมมั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาเข้าห้องสอบจริง ๆ น้องต้องทำได้ดี

#ไม่เคยขี้เกียจตรวจการบ้าน #ใช้ครูให้คุ้ม #ภาษาอังกฤษ #IELTS 

 

บาหลี สิบห้าปีต่อมา

“บาหลีสิบห้าปีต่อมา”

สถานที่แต่ละแห่ง มาพร้อมกับความทรงจำ มาพร้อมกับชุดความคิดที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคนครับ

ผมเอง เมื่อนึกถึงบาหลี แวบแรก ผมนึกถึงเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่บาหลีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2545 (ค.ศ. 2002) ผมตามคุณพ่อไปอยู่ที่อินโดนีเซียได้ราว ๆ 10 วัน จำได้ว่าเพิ่งแกะกล่องเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ส่งลงเรือมาล่วงหน้า เซ็ตระบบอินเทอร์เน็ตเสร็จ ก็มีข่าวนี้เลย

ประมาณปีหนึ่งจากนั้น ผมก็มีโอกาสไปเที่ยวบาหลีกับครอบครัว แต่เป็นช่วงเวลาสั้นมาก ๆ จำได้ว่าคุณพ่อไปราชการที่บาหลีอยู่แล้วและชวนเราสองคนแม่ลูกไปค้างต่ออีกหนึ่งคืน

เราพักอยู่แถวหาดกูตา ใกล้กับบริเวณที่เกิดเหตุระเบิด และเมื่อขับรถผ่าน ก็ยังเห็นพื้นถนนเป็นหลุมลึก เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผู้สูญเสีย และเหตุการณ์ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

หนึ่งคืนที่บาหลีสั้นมาก เราตะลอนชะโงกทัวร์ได้ชั่วสุดสัปดาห์ก็ต้องกลับจาการ์ตา ผมจึงไม่ค่อยมีความทรงจำอะไรไปมากกว่ารูปถ่ายใกล้หาดกูตา ดูการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระวิษณุ – การูดา ทางตอนใต้ของเกาะ นั่งรถผ่านเมืองอูบุด และนั่งทานอาหารเย็นริมหาดที่ในเวลาต่อมาก็เกิดเหตุระเบิดในบริเวณนั้นอีก

เวลานั้นผมอายุ 13 ปี บาหลีหนึ่งคืน จึงนับว่าเป็นประสบการณ์น้อยนิด เมื่อเทียบกับขาเที่ยวขาลุยหลายคนที่ไปถ่ายรูปสวย ๆ โพสภาพในเว็บท่องเที่ยวชวนอิจฉา

สิบห้าปีผ่านไป ผมอายุ 28 ได้โอกาส ฤกษ์งามยามดี ไปเที่ยวบาหลีอีกครั้ง กับเพื่อนและพี่ที่ทำงาน ศึกษาข้อมูลไปพอสมควร ก็กังวลว่าไปครั้งนี้คงจะไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะเห็นภาพมาเยอะแล้ว ก็แหม ใคร ๆ ต่างก็เคยไปบาหลี น้ำตก ป่าดิบชื้น ชายหาดสวยงาม เป็นจุดท่องเที่ยวที่ทุกคนนิยมไปเช็คอิน

ผมเลยคิดว่า เราน่าจะเริ่มต้นให้แตกต่างซะหน่อยดีกว่า เลยจองทัวร์เดินขึ้นภูเขาไฟช่วงพระอาทิตย์ขึ้น บาหลีมีภูเขาไฟชื่อดังอย่างเช่น Gunung Agung (กูนุง อะกุง) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อร้านหนังสือแห่งหนึ่ง (Toko Gunung Agung – โตโก กูนุง อะกุง) แต่อนิจจา ภูเขาไฟเพิ่งระเบิดพ่นควันฟู่ฟ่าไปเมื่อปีที่แล้ว ทำให้สนามบินปิด สร้างความวุ่นวายไม่น้อย เราเลยต้องเบนเข็มไปที่ภูเขาไฟลูกย่อมกว่า นั่นก็คือ Gunung Batur (กูนุง บาตูร์) ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 1,700 กว่าเมตร

ภาพที่เอามาแชร์เป็นภาพที่เห็นจากยอด ตรงเส้นขอบฟ้าคือภูเขาไฟ รินจานี (Rinjani) ที่อยู่บนเกาะลอมบอก (เกาะข้าง ๆ บาหลีนี่เอง) ที่สูงเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย ส่วนที่ใกล้ตัวสุดเป็นภูเขาอะบัง ซึ่งไม่ใช่ภูเขาไฟ และที่ซ้อนอยู่ด้านหลังอะบังเป็นเงาก็คือภูเขาไฟอะกุงนั่นเอง อินโดนีเซียเป็นประเทศใกล้บ้านที่ให้เราได้มาชมความงาม ความอัศจรรย์ และสัมผัสเสน่ห์ของภูเขาไฟได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก และถือเป็นไฮไลต์หนึ่งของทริปไปอย่างไม่ต้องสงใส

ทริปนี้ เราไปน้ำตก เราไปวัด เราไปวัดที่อยู่พื้นราบ เราไปวัดที่อยู่บนเขา เราไปทะเล เราไปอาบน้ำร้อน เรียกว่าคุ้ม แต่ก็เชื่อว่ายังมีของดีที่บาหลีที่เรายังไม่ได้ไปเยือนอีกหลายแห่ง

ทริปนี้ เราเดินกันเยอะมาก เรียกว่าตั้งแต่ซื้อ smart watch ให้มาจับก้าว จับจังหวะการเต้นของหัวใจ (#ที่ไม่ใช่เนื้อเพลง #และนี่ไม่ใช่การtiein #applewatchไงจะอะไรอีก) ทริปนี้คงเป็นทริปที่ออกกำลังเยอะสุด กินอาหารไม่ซ้ำกันตลอด 8 มื้อ (ขอบคุณคนขับไว้ ณ ที่นี้ ที่พาไปร้านท้องถิ่นที่สะอาด และเช็คให้ก่อนเสมอ ถ้าไม่สะอาด ก็จะไม่พาแวะ) และเป็นทริปที่เติมเต็มประสบการณ์บาหลีของผมให้อิ่มเอม เป็นภูเขาไฟลูกที่ 4 ที่ได้ขึ้นไป (นับจาก Tangguban Perahu ที่บันดุง / Bromo ที่สุราบายา / Ijen ที่ Banyuwangi) และหวังว่าอินโดนีเซียจะเปิดรับให้ผมไปเหยียบลูกที่ 5, 6, 7,… ไปเรื่อย ๆ เพราะเสน่ห์ของภูเขาไฟมีอยู่จริง

ขอบคุณพี่และเพื่อนร่วมทริปสำหรับ #ความช่วยเหลือ #ความเฮฮา #ความสนุก#ความหิวโหย #ความอยากกินสละอินโดที่กินกันสะใจจนท้องอืด #และอื่นๆอีกมากมาย (#ไม่ใช่เพลงวงเฉลียง #อ้าวรู้จักกันไหมนั่น)#แฮชแทกติดๆกันแบบนี้ได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนร่วมทริป #เป็นใครคงเดากันไม่ยาก

เลยขอบันทึกไว้ว่าบาหลีสิบห้าปีต่อมาของผมเป็นอย่างไร

แล้วบาหลีของคุณล่ะครับ?

This slideshow requires JavaScript.

 

ว่าด้วยวัฒนธรรมการอ่าน กับ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด”

เพิ่งได้ดูรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” ตอน “ทำไมไม่อ่าน” จบไป

ต้องบอกเลยครับว่าเป็นเทปที่ดีที่สุดเลย (สำหรับผมนะครับ)

ผมเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร และก็อ่านหลายอย่าง แต่มีความรู้สึกว่า มันไม่เท่ มันไม่ “คูล” ถ้าบอกใครว่าชอบอ่านหนังสือ ความคิดแรกของเพื่อน หรือคนที่คุยด้วย คงคิดว่า “ไอ้นี่เนิร์ด” ทั้งๆที่หนังสือที่ผมอ่านส่วนใหญ่เป็นพวกวรรณกรรม และหนังสืออ่านเล่น นิยายอิงประวัติศาสตร์ 

ผมตั้งคำถามตลอดเวลา ว่าทำไมคนที่อังกฤษ การพกหนังสืออ่านเล่นติดตัวเป็นเรื่องปกติ การถามคำถามที่ว่า “ตอนนี้อ่านอะไรอยู่” เป็นคำถามที่ปกติและธรรมดาพอๆ กับการถามว่า “วันนี้เป็นไงบ้าง” “กินข้าวกับอะไร” และทำไม ห้องสมุดไทยถึงไม่เอื้อต่อการอ่าน มันอยู่ที่วัฒนธรรม การพัฒนา หรืออะไรกันแน่

อาจจะด้วยความที่เป็นลูกคนเดียว เลยใช้เวลาไปกับหนังสือค่อนข้างเยอะ พ่อแม่ก็สนับสนุนเต็มที่ ชนิดที่ว่า มีหนังสือมากกว่าของเล่น มากกว่าเกม 
หนังสือจึงเป็นตัวบ่มเพาะความคิด ความฝันของผมมาตลอด

ได้ดูรายการเทปนี้ ก็รู้สึกว่าทางรายการ ได้ “ถาม” แทนผมหลายๆข้อ มีคำตอบ ที่แม้ว่ายังไม่สมบูรณ์ซะทีเดียว แต่ก็ชื่นใจว่ายังมีคนเป็นห่วง มีคนเห็นว่ามันเป็นปัญหา และที่สำคัญ มีคนที่เริ่ม ดำเนินการ แก้ไขแล้ว

ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่าน สดับรับฟังรับชมกันได้ตามลิงค์ด้านล่างครับ

http://www.youtube.com/watch?v=42eu509o50s

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , ,

The News Quiz!

สวัสดีวันวาเลนไทนส์ครับ

อย่างที่ได้เกริ่นไว้เมื่อวาน

ผมได้ขอตั๋วไปเป็นส่วนหนึ่งในการอัดรายการ The News Quiz ที่ห้องส่งวิทยุ BBC เมื่อวานนี้

 

จริงๆ แล้วจะเล่าให้ฟังว่าตอนแรก ไม่ได้อยากจะไปฟังรายการถึงที่อะไรหรอกครับ แค่อยากไปเห็น “ห้องข่าว” BBC Newsroom บ่อยๆ เท่านั้นเอง กลับมาจากทัวร์บีบีซี ตอนนั้นก็เลยนั่งหาว่า มีทางไหนที่จะได้เข้าไปในตึก บีบีซี ตามประสา คนบ้าข่าว ‘News Junkie’ ที่สำคัญ ต้อง “ไม่เสียตังค์” ด้วยครับ

 

http://www.bbc.co.uk/showsandtours/shows/tickets/radio

 

และนี่ก็คือเว็บไซต์ที่เอาไว้ขอตั๋วได้ ซึ่งบีบีซี จัดไว้ให้ประชาชนทั่วไป ขอตั๋วเข้าไปนั่งเป็นผู้ชม ผู้ฟังในห้องส่งได้ฟรีๆ เลย 

ซึ่งวิธีการขอ ก็จะคล้ายๆ กันคือใส่ชื่อ ใส่อายุ ที่อยู่ อีเมล์ ลงไป บางรายการขอได้สี่ใบ บางรายการ อย่างเมื่อวานที่ผมไป ขอได้สองใบ เพราะเป็นรายการที่เป็นที่นิยมครับ จากนั้น BBC ก็จะส่งเมล์มาบอก พร้อมตั๋ว (ถ้าได้) ถ้าไม่ได้ อาจจะไม่มีเมล์มา หรือไม่บอกอะไรเลยก็ได้ 

 

มาพูดถึงรายการ The News Quiz กันดีกว่าครับ

รายการนี้ จากการค้นคว้าของผม (ในวิกิพีเดีย) ก็พบว่า เป็นรายการวิทยุของ BBC Radio 4 ที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) นู่นแน่ะ 

ลักษณะของรายการ เป็นรายการที่เอาข่าวดังๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอังกฤษ และในต่างประเทศ ในช่วงนั้น มาทำให้ขำ โดยอาจจะเป็นการล้อเลียน เติมมุก ยังไงก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นรายการตลกประเภทใช้คำหยาบ ด่าๆ แล้วก็ไม่ใช่แบบ stand-up comedy เพราะมีผู้เข้าร่วมรายการราว 4-5 คน 

 

อธิบายค่อนข้างยาก เพราะเป็นรายการแบบอังกฤษๆ ที่ยังไม่เคยเห็นในบ้านเรา

 

โดยรายการนี้ เป็นรายการที่มีชื่อเสียงมากของบีบีซี (อยู่มานานมาก อย่างซีรีย์เมื่อวานก็เป็นซีรีย์ที่ 83) เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรายการทำนองนี้ แต่แพร่ภาพทางทีวี และดังมากอีกรายการหนึ่งคือ Have I got news for you ครับ ลองเสิร์ชหาในยูทูป หรือ BBC iPlayer น่าจะพอจับทางได้คร่าวๆครับ

 

ไกด์ที่พาทัวร์บีบีซีเคยบอกว่า เวลาจะผลิตรายการโทรทัศน์ใหม่ขึ้นมาสักรายการ ส่วนมากเค้าจะทดลองออกอากาศทางวิทยุก่อน ถ้าเวิร์ค ถ้าดัง ก็ค่อยพัฒนาไปเป็นรายการทีวี

 

เมื่อได้ตั๋วเรียบร้อยแล้วนะครับ ผมกับเพื่อนอีกคน ก็ไปเอาสติ๊กเกอร์คิว ตอนห้าโมงกว่า เพราะเค้าบอกว่า เค้าจะให้ตั๋วเกินไปก่อน เพราะบางทีคนก็ไม่มา เพราะฉะนั้น ก็เลยแนะนำให้ไปเร็วนิดนึง ไปเอาคิว แล้วก็ไปทำอะไรก่อนก็ได้ ค่อยกลับมาตอนก่อนทุ่ม 

 

พอตอนทุ่มนึง ก็เข้ามารอ ก่อนจะเข้าตึกก็ต้องตรวจกระเป๋าคล้ายๆ สนามบินแต่ไม่เข้มงวดเท่า

 

เห็นคนที่มารอ เกือบทั้งหมดเป็นชาวอังกฤษ ผมก็เลยพอจะเดาได้ว่าทำไมผมถึงได้ตั๋วมาคราวนี้ ทั้งๆ ที่ต้องจับฉลาก แล้วโอกาสได้ก็ค่อนข้างยาก บีบีซี มีนโยบายที่จะให้ผู้ชม มีความหลากหลาย ไม่ใช่มีแต่ชาวคอเคเชี่ยนหัวทอง การเป็นคนต่างชาติในอังกฤษเลยกลายเป็นข้อดีขึ้นมาเลยครับ 

 

เมื่อวาน การอัดรายการกินเวลาราว เก้าสิบนาที ซึ่งเค้าจะเอาไปตัดต่อ ออกอากาศวันนี้ตอนหกโมงครึ่ง (เวลาอังกฤษ) แค่ยี่สิบกว่านาทีเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งเก้าสิบนาที ก็หัวเราะกันตลอด น่าดูว่าที่เหลือเน้นๆ ยี่สิบนาทีวันนี้จะมีอะไรบ้างครับ

 

นี่คือลักษณะของรายการครับ ก่อนเข้าห้องส่ง เค้าจะให้ปิดมือถือให้สนิทเลย ไม่ให้ถ่ายรูป (รูปที่ได้มาจากเว็บของ บีบีซีครับ) แล้วที่นั่ง ก็จะมีไมโครโฟนแขวน ไว้อัดเสียงหัวเราะพวกเราครับ 

 

ก็นับว่าเป็นการไปดูรายการที่สนุกดี กลับมาถึงบ้าน รีบขอไปอีกหลายรายการ แต่คงจะได้ยากกว่าครั้งนี้ล่ะครับ 

Photo Courtesy: http://www.bbc.co.uk/

 

 

ป้ายกำกับ: ,

เยี่ยมบ้าน บีบีซี

บีบีซี ย่อมาจาก British Broadcasting Corporation หรือองค์การแพร่ภาพวิทยุโทรทัศน์แห่งบริเตน 

เป็นองค์กรที่พวกเราทุกคนคงเคยได้ยินชื่อมาบ้างแล้ว

 

องค์กรนี้เป็นเจ้าของรายการ สารคดี และซีรีย์เจ๋งๆมากมาย อย่าง Sherlock, Doctor Who, Walking with Dinosaurs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการข่าว BBC News และ BBC World Service

 

บีบีซีมีช่องโทรทัศน์ทั้งหมด สี่ช่อง BBC One, Two, Three และ Four

มีช่องเด็ก ชื่อ CBeebies และช่องเฉพาะอย่าง BBC Parliament และ BBC News ด้วยครับ

 

ในส่วนของวิทยุ ก็มี BBC 1, BBC 1 Xtra, BBC 2, BBC 3, BBC 4, BBC 4 Xtra, BBC 5, BBC 5 Live, BBC 6, BBC Asian, BBC World Service, รวมทั้ง BBC ท้องถิ่นอยู่ทั่วสหราชอาณาจักรครับ 

 

โดยในระดับประเทศ

BBC 1 และ 1Xtra จะเป็นคลื่นเพลง

BBC 2 จะเป็นรายการสาระบันเทิงต่างๆ

BBC 3 จะเป็นเพลงคลาสสิค

BBC 4 จะเป็นข่าว สาระ มีละครและมีตลกบ้าง

BBC 5 เป็นกีฬา

BBC 6 เป็นคล้ายๆ วาไรตี้ มีสาระบันเทิงปะปนกันไป  

 

นี่ยังไม่นับข่าว ที่ออกอากาศไปทั่วโลก และบีบีซีภาษาต่างๆ เช่น บีบีซีอารบิก บีบีซีอินโดนีเซียเป็นต้น เมื่อก่อนเคยมี บีบีซีภาคภาษาไทยและยกเลิกไปแล้ว  

 

เมื่ออยู่ลอนดอน ก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านบีบีซีมาครับ (เกริ่นมาตั้งนาน เข้าเรื่องซะที)

โดยการเยี่ยมบ้านหรือการไปทัวร์ บีบีซี ใครก็สามารถเข้าไปได้ครับ และบีบีซีมีสำนักงานอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากที่ลอนดอน ก็ยังมีสตูดิโอ อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ในสก็อตแลนด์ นิวคาสเซิล และที่สำคัญ เค้าเพิ่งเปิดสำนักงานแมนเชสเตอร์ด้วยล่ะครับ

 

โดยหากอยากไปทัวร์ ก็เข้าไปในเว็บนี้ได้เลย http://www.bbc.co.uk/showsandtours/tours/ สำหรับนักเรียน ราคาสิบปอนด์ครับที่ BBC Broadcasting House ที่ลอนดอน

 

ตอนไปทัวร์ ก็จะได้เห็นการทำงานของบีบีซี ซึ่งเค้าจะได้เงินสนับสนุน จากการจ่าย License Fee จากบ้านแต่ละบ้านในสหราชอาณาจักร ปีละประมาณร้อยกว่าปอนด์ (ห้าพันกว่าบาท) ซึ่งการจ่ายเงินนี้ ก็เป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะได้ดูรายการที่มีคุณภาพ และไม่มีโฆษณา จากองค์กรที่ทำงานกันอย่างมืออาชีพครับ 

เวลาไปทัวร์เราก็จะเห็นได้หลายอย่าง เช่น เวลาจะเปลี่ยนพรมในห้องแต่งตัว ก็ต้องมาดูว่าจำเป็นไหม เพราะเงินที่เอามาใช้จ่ายถือเป็นเงินภาษี 

 

เมื่อเดินเข้าไป ภาพแรกที่จะได้เห็นก็คือห้องข่าว หรือ Newsroom ที่เวลาเราเปิด BBC News ก็จะเห็นภาพคนกำลังทำงาน นั่งอยู่หน้าคอมเยอะ ๆ เดินไปเดินมานั่นแหละครับ ไกด์บอกว่า ตอนแรกเค้ามีแผนที่จะให้งานข่าวทั้งหมด รวมศูนย์อยู่ที่ลอนดอนที่เดียว แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็มีรายการข่าวยามเช้า BBC Breakfast ที่อยู่ที่ศูนย์ที่ Salford, Manchester ทำให้กระจัดกระจายอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ห้องข่าวที่เห็น ก็เป็นห้องข่าวที่ทำข่าวทั้งหมดที่เหลือ เรียกว่า ข่าวที่มีเครดิต BBC ทั่วโลก มาจากห้องนี้ครับ

 

ห้องข่าว บีบีซี

ห้องข่าว บีบีซี

 

 

นักข่าวแต่ละคนก็จะมีจอคอมสามจอ ผมจำไม่ได้ว่าจอไหนใช้ดูอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือเค้าจะเปิดข่าวช่องอื่นไว้ดูด้วย 

 

ได้เห็นมุมพยากรณ์อากาศ ซึ่งเค้าบอกว่า คนที่จะมาอ่านพยากรณ์อากาศได้ต้องจบอุตุนิยมวิทยามาโดยตรงครับ อย่างเวลาที่เค้าให้ไปดูห้องส่งจำลอง ให้โอกาสคนที่มาทัวร์ได้ไปอ่านข่าวดู ก็จะเห็นว่า ข่าวมีตัววิ่งให้ ส่วนพยากรณ์อากาศไม่มีบทนะครับ ต้องพูดสดเอง

 

 

ตอนแรกห้องข่าวนี้จะทำให้ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบัน พอสร้างเสร็จก็โดนห้องข่าวที่จีน กับเยอรมนี แซงหน้าไปซะแล้ว เลยเป็นได้แค่ “หนึ่งใน” ห้องข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ

 

ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ ที่บีบีซี คงจะคล้ายๆกับองค์กรประเทศร่ำรวยอื่นๆ จะใช้คนน้อยมาก ช่างกล้อง แทบไม่มีเลย มีแค่คนคุมเวทีคนเดียว ในการออกอากาศ กับผู้ประกาศ นอกนั้นอัตโนมัติเกือบหมด และเทคโนโลยีที่ใช้ ก็รู้สึกจะถ่ายทำด้วยกล้อง 4K แล้ว

 

ในทัวร์ครับ ยังได้เห็นการอัดละครวิทยุ ซึ่งเค้าก็ได้ให้โอกาสลูกทัวร์ ไปลองด้วย ซึ่งอันนี้ผมก็ได้ไปลองมา บทไม่เยอะ แต่ก็สนุกดี ได้เห็นเบื้องหลังการทำซาวด์เอฟเฟกต์ครับ

 

 

ห้องส่งวิทยุครับ

 

โดยรวมที่ไปเห็นและได้ข้อคิดมา คือ บีบีซี เป็นองค์กรที่มีจรรยาบรรณความเป็นสื่อ มีความเป็นสาธารณะ ตอบสนองความต้องการของสาธารณชนอย่างเต็มที่จริงๆ เค้าระลึกอยู่เสมอว่า ประชาชนเป็นคนให้เงินเค้ามาทำ รายการวิทยุตอนหนึ่ง ย้ำว่าตอนหนึ่งนะครับ ต้นทุนปาเข้าไปหลายแสนปอนด์ (ลองคูณห้าสิบดู) แต่รายการที่ออกมา มีการตรวจสอบคุณภาพเสมอ และการที่บีบีซีได้รับการยอมรับ มีผู้ชมทั่วโลก สามารถขายลิขสิทธิ์รายการได้อีก ทำให้บีบีซี เป็นองค์กรที่ใช้เงินภาษีประชาชนได้คุ้มจริงๆครับ

 

ผมมักจะเปรียบเทียบกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐบ้านเราอยู่เนืองๆ และก็เห็นว่า สื่อของรัฐที่เป็นกระบอกเสียง ใช้โจมตีฝ่ายตรงข้าม ใช้เอาใจรัฐบาล มันเป็นสื่อที่ไม่ค่อยจะมีจรรยาบรรณสักเท่าไหร่ และเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างสิ้นเปลือง รายการด้อยคุณภาพ

ทุกรัฐบาล ไม่มีสิทธิจะใช้สื่อ เป็นเครื่องมือของตนเอง รัฐต้องตอบสนองคนทั้งประเทศ เพราะเค้าเป็นคนจ่ายภาษีให้

 

เขียนอย่างนี้ ผมเห็นมาทุกสมัย กับการใช้ช่องสิบเอ็ดเป็นเครื่องมือ ไม่ได้มากไม่ได้น้อยไปกว่ากัน แต่แย่พอกันครับ

 

อย่างน้อย ผมเห็นว่า ไทยพีบีเอส ก็เป็นตัวอย่างของทีวีสาธารณะที่น่าสนับสนุนครับ

 

ที่บีบีซีบอกว่า “จะดูว่าเป็นกลางได้ยังไงนั้น ถ้าหากคุณโดนด่าทั้งสองฝ่าย แปลว่า เป็นกลางแล้วล่ะ”

 

 

เดี๋ยวคราวหน้าจะมาเล่า บรรยากาศการเป็นผู้ฟังรายการวิทยุ ของบีบีซีครับ

 

ป้ายกำกับ: , , , , , ,

การค้นหาที่ค้นพบไม่จบสิ้น

ในยุคนี้ เมื่อให้ไป ค้นหาอะไรในอินเทอร์เน็ต
คาดว่าเกือบทุกคนก็คงจะมุ่งไปที่ google หรือ “อาจารย์กู” อย่างที่สมเด็จพระเทพฯเคยตรัสขำๆไว้

ผมเพิ่งอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ the Observer ของอังกฤษเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ในบทความก็จะพูดถึงความน่าประหลาดที่สิ่งที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ที่เหมือนจะไม่มีตัวตน แท้จริงแล้ว กลับต้องใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูล (Data) ขนาดใหญ่มาก และยังคงขยายตัวอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังพูดถึงสถานที่ทำงานของกูเกิล ที่รวมเอาคนฉลาดๆ ไว้มากมาย สภาพแวดล้อมเอื้อให้คนที่ทำงานเหล่านี้ผ่อนคลาย โดยมีทั้งคาเฟ่ฟรี มีอุปกรณ์ไฮเทคล้ำๆ ไว้บริการ เช่นแว่น ที่เมื่อใส่และใช้ร่วมกับ street view ในโปรแกรม google map ภาพที่ปรากฎผ่านแว่น ก็จะเหมือนเราไปยืน ณ จุดจุดนั้นจริงๆ

ในบทความยังมีการสัมภาษณ์คุณ Amit Singhal ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทกูเกิล ซึ่งเขาก็ได้บอกกล่าวไว้ว่า กูเกิลยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

อย่างเรื่องของเสิร์ชเอนจิ้นเอง กูเกิลเองก็บอกว่ากำลังพัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะเชื่อมต่อสมองของเราเข้ากับการค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง เรียกว่า แค่คิด ระบบค้นหาก็เริ่มทำงานเลย แต่ช้าก่อน
กูเกิลเค้าไม่ได้ดั้นด้นคิดค้นแต่เรื่องที่เกี่ยวกับการค้นหานะครับ
เค้ายังมุ่งพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเราด้วย

เรามาลองดูโปรเจคต์ล้ำๆ ของกูเกิลที่เค้ากำลังพัฒนากันอยู่ดูหน่อยนะครับ

อย่างแรกเลย คือ Project Glass
ซึ่งเป็นโปรเจคต์ที่โด่งดังที่สุดของกูเกิล อุปกรณ์ที่กำลังพัฒนาก็คือแว่นตาครับ ถ้าอธิบายง่ายๆก็คงเหมือนแว่นตาโคนัน หรือแว่นตาในหนังล้ำยุคต่างๆ ที่พอใส่ปุ๊บ ก็จะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บอกพิกัด ทำนู่นทำนี่ได้เหมือนยกเอาสมาร์ทโฟนมาเลย ซึ่งโปรเจคต์นี้ก็มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องและมีทีท่าว่ากำลังไปได้สวย

อย่างที่สองคือหุ่นยนต์
หุ่นยนต์ใช้สอยในบ้านครับ เหมือนที่เราเคยนึกเคยฝัน หุ่นยนต์แม่บ้านที่เดินไปทำนู่นทำนี่ให้เรา หรือทำงานในสำนักงานน่าเบื่อๆ ให้มนุษย์อย่างเราเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นๆ ได้

สิ่งต่อมาที่กูเกิลกำลังคิดต่ออยู่ก็คือการสร้างลิฟต์ไปถึงอวกาศครับ
ถ้่าโปรเจคต์นี้เป็นจริงขึ้นมาได้ เราคงได้มีโอกาสขึ้นลิฟต์ ไปสำรวจอวกาศ โดยลิฟต์นี้จะเชื่อมกับสถานีอวกาศ และมีสายเคเบิลยักษ์ปักลึกลงไปในพื้นผิวโลก

พวกเราคงเคยได้เห็นตามโชว์ต่างๆ หรือในหนังไซไฟ ที่มีบ้าน ที่มีตู้เย็นที่สามารถตรวจดูได้ว่าของใกล้หมด และสั่งของเองได้จากอินเตอร์เน็ต ครับ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่นานเกินรอ กูเกิลเค้าก็กำลังพัฒนาอยู่

และอย่างสุดท้ายก็คือรถที่ไม่ต้องมีคนขับ โดยรถเหล่านี้ เค้าบอกว่าจะปลอดภัยกว่ารถที่มีคนขับเสียอีก
เพราะรถยนต์เหล่านี้จะสื่อสารกันเองได้ เพื่อที่จะรักษาระยะห่างระหว่างกัน ทำให้ปลอดกังวลว่ารถจะชน

จะเห็นว่า โปรเจคต์ล้ำๆ แต่ละอย่างของกูเกิลที่เล่ามา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้นหามากนัก
มันคือการ “ต่อยอด” จากการ “ค้นหา”
จากการเริ่มต้นคิดหาวิธีการที่จะทำให้มนุษย์เราสบายขึ้น ทำให้เราเอาชนะธรรมชาติได้มากขึ้น หรืออย่างมีชั้นเชิงขึ้น ก็นำไปสู่การ “ค้นพบ” วิทยาการ นวัตกรรมใหม่ๆ

ตัวอย่างของกูเกิลก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่เริ่มต้นจากการ “ค้นหา” ก็นำไปสู่การ “ค้นพบ” ที่ไม่จบสิ้นจริงๆ

อย่างไรก็อย่าลืมนะครับว่า เทคโนโลยี มีวันล่ม มีวันเจ๊งได้เหมือนกัน สมองของมนุษย์เรานี่แหละ ที่อาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่พัฒนาได้เรื่อยๆ… อย่างไม่จบสิ้น…

อ้างอิง: ‘The New Review’ in The Observer, Sunday 20 January 2013

อ่านผ่านเว็บได้ที่ http://www.guardian.co.uk/technology/2013/jan/19/google-search-knowledge-graph-singhal-interview

Google

รูปภายในอาคารเก็บข้อมูลของกูเกิล
ขอบคุณรูปจาก http://www.guardian.co.uk/technology/2013/jan/19/google-search-knowledge-graph-singhal-interview

 

ป้ายกำกับ: , , , ,

นิยามของคำว่า “การเมือง”

ผมตีความคำว่า “Politics” ว่าเป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง…ดังนั้น ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั้นจึงมี Politics ถ้าเราแปลคำว่า politics ว่า “การเมือง”

“การเมือง” จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา อย่าง “หลีกเลี่ยงไม่ได้” 
จึงไม่เห็นด้วย ที่เราจะแยกเรื่อง “การเมือง” ออกจากการ “รับรู้” ในชีวิตประจำวัน
จะพูดคุยหรือไม่ เป็นสิทธิ แต่คิดว่า เราต้อง “รับรู้” 

บางที เราอาจต้องหาความหมายของคำว่า politics ในภาษาไทย ที่ครอบคลุม กว่าคำว่า “การเมือง” หากคำว่า “การเมือง” ทำให้คนจำนวนไม่น้อย หลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ และสร้างวิจารณญาณ แก้ไข “ความขัดแย้ง”

ปีนป่าย
13.01.2556
Durham, สหราชอาณาจักร

 
1 ความเห็น

Posted by บน 13/01/2013 นิ้ว การเมือง

 

ป้ายกำกับ:

รายงานประจำปีของบล็อก “ปีนป่าย” ปี 2555 หรือ 2012 ครับ

The WordPress.com stats helper monkeys prepared a 2012 annual report for this blog.

Here’s an excerpt:

4,329 films were submitted to the 2012 Cannes Film Festival. This blog had 15,000 views in 2012. If each view were a film, this blog would power 3 Film Festivals

Click here to see the complete report.