RSS

Tag Archives: บวช

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๑๒ (ลาสิกขา)

ดำเนินมาถึงตอนลาสิกขาแล้ว

ตื่นเช้าตามปกติ ไปทำวัตรเช้า
กลับมา ปลงอาบัติให้เรียบร้อย

รอกุฏิหลวงพ่อเปิด

เตรียมท่องคำลาสิกขา ซึ่งความหมายก็ประมาณว่า จะกลับไปใช้ชีวิตเป็นคฤหัสถ์

มีโยมแม่เตรียมเสื้อผ้า ที่จะเปลี่ยน
พิธีก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย

ในการนี้ หลวงพ่อให้ตั้งใจว่า สึกแล้ว จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร

เราตั้งใจไว้ว่า จะพยายามเป็นชาวพุทธที่แท้ คือไม่หลงกับพิธีกรรม หรือเปลือก แต่หันมาสนใจ “แก่น” พุทธศาสนาแทน
ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดสิบห้าวันแห่งการเป็นพระที่วัดชลประทานฯแห่งนี้ ปัจจุบัน พุทธศาสนาในประเทศไทย ถูกบดบังด้วยเปลือกหนาๆ เหล่านี้ จนอาจทำให้หลายๆ คนลืมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเสีย

นอกจากนี้ หลวงพ่อถามว่า ดื่มเหล้าบ้างหรือเปล่า
ก็ตอบท่านไปว่าดื่มบ้าง

หลวงพ่อขอให้งด

ตอนนี้ เราก็ไม่ได้ดื่มเหล้าแล้วครับ

ถ่ายกับโยมแม่ รูปที่สอง ด้านหลังเป็นรูปหล่อ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ที่เราเคารพท่านมากครับ

ขอบคุณที่ติดตาม เรื่องราวการบวชนะครับ
แล้วติดตามเรื่องอื่นๆ ต่อได้ ที่ https://peenpai.wordpress.com/ แห่งนี้ครับผม

 
 

ป้ายกำกับ: , ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๑๑

วันเสาร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ (อันนี้ยังเป็นการเขียนย้อนหลังเรื่องราวบวชเมื่อปีที่แล้วอยู่ครับ)
ก็จะขอรวมตอนที่เหลือให้เป็นตอนเดียวเลยก็แล้วกัน

วันนี้ฝนไม่ตกแล้ว มีเลี้ยงเพลอีกวัน กับข้าวโยมแม่ที่ใส่บาตรตอนเช้า เลยไม่ได้ฉัน
สละให้ที่วัดไป วันนี้ไม่มีอะไร ตอนเย็นมีประชุม
ส่วนเวลาที่เหลือก็เป็นกรรมฐาน

 

วันอาทิตย์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕
วันอาทิตย์ก็เหมือนสัปดาห์ที่แล้ว มีใส่บาตรสองรอบ
ตอนเช้า หลังจากบิณฑบาตเสร็จแล้ว โยมโอ ที่ขับรถมาส่งที่วัดทุกวัน รถเสีย เลยนั่งแท็กซี่กลับวัด
วันนี้มีญาติๆ หลายคนมาก มาร่วมใส่บาตร อาหารการฉันอุดมสมบูรณ์มาก

ตอนบ่ายว่าง ส่วนตอนห้าโมงมีประชุม วันนี้รู้สึกนั่งสมาธิ ได้ดีขึ้น

โดยสามารถสรุปหลักการเดินกรรมฐานได้ จากที่พระอาจารย์บอก มีหกระยะ ตามความละเอียด
ก่อนจะเดินก็ต้องบอกกับตัวเองในใจว่า “อยากเดินหนอ อยากเดินหนอ อยากเดินหนอ”
พอจะเดิน ก็บอกกับตัวเองว่า “เดินหนอ เดินหนอ เดินหนอ”
ระยะที่ ๑
ขวา/ซ้าย ย่างหนอ

ระยะที่ ๒
ยกหนอ,  เหยียบหนอ

ระยะที่ ๓
ยกหนอ, ย่างหนอ, เหยียบหนอ

ระยะที่ ๔
ยกหนอ, ย่างหนอ, ลงหนอ, เหยียบหนอ

ระยะที่ ๕
ยกส้นหนอ, ยกหนอ, ย่างหนอ, ลงหนอ, เหยียบหนอ (อาจจะไม่เป๊ะนัก แต่ก็ประมาณนี้)

ระยะที่ ๖
ยกส้นหนอ, ยกหนอ, ย่างหนอ, ลงหนอ, ถูกหนอ, กดหนอ เป็นขั้นที่ละเอียดที่สุด

พระอาจารย์บอกว่า จะภาวนาให้ได้ดี ต้องกำหนดรู้ให้ได้ว่า ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
———————————————————————————

วันจันทร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
วันนี้ฝนตกตอนบิณฑบาต
กรรมฐานตอนเช้า ง่วงๆ อยู่เหมือนกัน
ฉันเพลเสร็จ
ล้างนู่นล้างนี่ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

———————————————————-
วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓

ฝนตกตอนบ่ายหนักมากเลย
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกรรมฐานวันนี้ “ความจริงข้างใน คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น ส่วนความจริงข้างนอก เรายังต้องยึดมั่นอยู่” เข้าใจว่าความจริงข้างนอก ก็คือ สมมติสัจจะ… คือสิ่งที่สมมติ ขึ้นมา…

———————————————————————-

วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

วันนี้มีพระบวชใหม่หนึ่งรูป หลวงพี่โจอี้
ท่านจบโทจากเคมบริดจ์ มาบวชยี่สิบวันก่อนกลับไปทำงานที่ลอนดอน
ด้วยความที่ท่านบวชทีหลัง แม้จะอายุจริงมากกว่า แต่ก็เป็นภันเตต่อจากเรา

วันนี้นั่งกรรมฐาน หนึ่งชั่วโมง ปวดขามากๆ แต่ก็ดีใจที่ได้พยายามจนนั่งยาวๆ ได้สำเร็จ
——————————————————————

วันพฤหัสที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

วันนี้เดินบิณฑบาต ได้แยกสายไปกับเณรรูปหนึ่งมาจากจีน แต่มาอยู่ที่วัดชลประทานฯ ได้หนึ่งปีแล้ว
หลวงพี่เบียร์ให้เราเดินนำแยกสาย ผ่านไปเรียบร้อยดี
ตื่นเต้นมาก กลัวแวะบ้านผิด เพราะถนนสายนั้น เป็นชุมชนชาวมุสลิม และมีคนไทยพุทธใส่บาตรเป็นจุดๆ ต้องจำให้ได้

วันนี้กรรมฐาน ง่วงน้อยลง แต่ยังฟุ้งอยู่มาก

ต้องพยายามต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้คิดและตั้งใจว่า เมื่อสึกแล้วก็ยังต้องพยายามต่อไป

————————————————————————————-

วันศุกร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓

วันนี้บิณฑบาตวันสุดท้าย เพราะอีกวันก็สึกแต่เช้า
ได้ถ่ายรูปร่วมกับหลวงพี่สายบิณฑบาตเป็นที่ระลึก
และแม้จะอยากบวชต่ออีกสักพัก เพราะติดใจในความสงบ เรียบง่าย ไม่ต้องยุ่งกับโลกภายนอก
แต่ก็ด้วยภาระหน้าที่

คิดไว้ว่า ถ้าเป็นฆราวาส ก็ต้องเป็นฆราวาสที่ดี

กรรมฐานค่ำเสร็จ นอนไม่หลับ กว่าจะหลับก็สี่ทุ่มกว่า
ตื่นเต้น เหมือนกันที่จะได้กลับไปเป็นฆราวาส

————————————————————————
โปรดติดตามตอนลาสิกขา ตอนต่อไปนะครับ

 

ป้ายกำกับ: ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๑๐

ดำเนินมาจนถึงตอนที่ ๑๐ แล้วครับ

วันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

วันนี้ฝนตกตอนทำวัตร (ประมาณตีสามครึ่ง) และก่อนออกบิณฑบาตเล็กน้อย

วันนี้ถึงตาเราออกเดินสายย่อยกับหลวงพี่เบียร์ ซึ่งมีชื่อในด้านการเดินเร็วมาก
สมคำร่ำลือจริงๆ ครับ เดินตามแทบไม่ทัน เรียกว่า มีการฝึกฝนตลอดเวลา ในระยะการบวชสิบห้าวันนี้

เมื่อเรียนกรรมฐานตอนเช้าเสร็จ ทางวัดมีเลี้ยงเพล ซึ่งเจ้าภาพก็คือโยมแม่ของหลวงพี่พระนวกะรูปหนึ่ง
ฉันกันที่ศาลาฉัน

หลังเพล แล้วก็ซักจีวร
กรรมฐานต่อช่วงบ่ายและค่ำ เป็นเรื่องปกติ

และในช่วงกรรมฐานนี้ ก็ให้งดทำวัตรเย็นไปก่อน

แล้วติดตามตอนต่อไปนะครับ

 

ป้ายกำกับ: ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๙

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๓

วันนี้บิณฑบาตกลางสายฝนเลยทีเดียว กางร่มไปด้วย มืออุ้มบาตรไปด้วย
นับเป็นการฝึกสมาธิ และความตั้งใจอย่างดียิ่ง

เมื่อกลับมาถึงวัด เนื่องจากฝนตก พระอาจารย์เลยอนุญาตให้กลับไปฉันเช้าที่กุฏิ
พอเก้าโมงครึ่ง ก็มาเรียนกรรมฐานต่อ
เสร็จจากฉันเพล ก็มาเรียนกรรมฐานภาคบ่าย
พอสามโมงครึ่ง เลิกมาทำวาระ

จากนั้นก็ว่างจนถึงหกโมงครึ่ง ขึ้นเรียนกรรมฐานจนสองทุ่มครึ่ง จึงกลับกุฏิ และจำวัด…

แล้วติดตามตอนต่อไปนะครับ

 

ป้ายกำกับ: ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๘

วันพุธที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ครับ

วันนี้ฝนตกตอนตีสอง ดีว่าตอนออกไปทำวัตรฝนหยุดตกแล้ว ตอนไปบิณฑบาตฝนก็ไม่ตก
วันนี้มีคนมาใส่บาตรที่ลานหินโค้ง ในวัด น้อยกว่าเมื่อวาน กลับกุฏิเร็วขึ้น มาซักผ้า

แล้วออกไปเรียนกรรมฐานที่โรงเรียนพุทธธรรมด้านหน้า

ในภาคเช้า พระอาจารย์สอนการเตรียมตัว ส่วนในภาคบ่ายเป็นการปฏิบัติ
มีทั้งการยืน การเดิน การนั่งกรรมฐาน
เมื่อรู้สึกง่วง พระอาจารย์มีวิธี โดยการให้สูดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ หลายๆ ครั้ง
แม้ว่าทำแรก ๆจะง่วงอยู่บ้าง แต่ก็มีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม

พอสามโมงครึ่ง ก็มาทำวาระ (คือการทำเวรนั่นเอง) เราเวรล้างห้องน้ำที่กุฏิสี่เหลี่ยม
ส่วนวันนี้ ไม่มีประชุมตอนเย็น
ราว หกโมงครึ่งก็มากรรมฐานต่อ แล้วกลับกุฏิ

โดยปกติแล้วที่กุฏิสี่เหลี่ยมจะมีถังแช่นม เครื่องดื่ม น้ำปานะ ไว้ตลอด ไม่ต้องกลัวว่าจะหิวเลย

แล้วติดตามตอนต่อไปนะครับ

 

ป้ายกำกับ: ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๗

วันต่อมา เป็นวันเข้าพรรษา ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓

วันเข้าพรรษานี้ รับบาตรที่ลานหินโค้งตอนเช้า โยมมาน้อยกว่าเมื่อวานพอสมควร

ในตอนบ่าย พระธรรมวิมลโมลี ท่านเจ้าอาวาส ได้นิมนต์พระนวกะ ไปร่วมพิธีเททองหล่อพระประจำวัน

มีการสวดพาหุงมหากา และอนุโมทนาทาน
จากนั้น เป็นการเข้าอุโบสถ เพื่อปวารณาอธิษฐานเข้าพรรษา แต่เนื่องจากเราบวชเพียงสิบห้าวัน จึงไม่ได้กล่าวคำปวารณาครับ

วันนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ กลับกุฏิตั้งแต่หกโมงเย็น
อ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อปัญญาฯ ชื่อ “คำสอนในพุทธศาสนา” ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมาก อธิบายโดยใช้คำง่ายๆ อ่านสนุก เพลินดี

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ…

 

ป้ายกำกับ: ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๖

เข้ามาถึงตอนที่ ๖ แล้วนะครับ
ตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องราวของวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่เรียกกันว่า “วันพระใหญ่” คือเป็นวันขึ้น ๑๒ ค่ำนั่นเอง

วันนี้ไม่ต้องออกเดินบิณฑบาต เพียงแค่เดินเวียนบิณฑบาตรอบวัด แล้วก็นั่งที่ลานหินโค้งตั้งแต่เช้า
เพราะมีคนมาใส่บาตรที่วัดเยอะมากๆ ปกติแล้ว คนก็จะใส่บาตรกันจนเสร็จประมาณ เจ็ดโมงครึ่ง พระก็จะมีเวลาสำหรับฉันอาหารที่โยมนำมาใส่บาตร
แต่ในวันพระใหญ่เช่นนี้ พระฉันไม่ทัน ครับ คือต้องฉันไปแล้วก็รับบิณฑบาตไป

เรียกว่า เห็นแล้วก็ชื่นใจว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยเรา ยังมีอยู่เยอะ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรนำหลักธรรมต่างๆ ไปปฏิบัติด้วยนะครับ

ประมาณแปดโมงกว่าๆ ก็กลับไปล้างบาตร ทำธุระส่วนตัวที่กุฏิ
ประมาณเก้าโมงนิดๆ ก็ต้องออกมานั่งที่ลานหินโค้งอีก

มีธรรมบรรยายโดยท่านเจ้าอาวาส พระธรรมวิมลโมลี

จนถึงประมาณสิบเอ็ดโมง มีบิณฑบาตอีกรอบ
คนก็มาเยอะเช่นกัน เยอะมากๆ

เสร็จจากฉันเพล ไปล้างบาตร แล้วก็มีเวลามาคุยกับโยมแม่ โยมญาติ และโยมเพื่อนๆ ที่มา
กลับมาซักจีวร แล้วก็จำวัดไปพักหนึ่ง ตั้งเวลาปลุกไว้เวลาบ่ายสองครึ่ง

ปรากฎว่าเวลานัดจริงๆ บ่ายสองครึ่ง หลวงพี่ห้องข้างๆ ก็รีบมาเรียก รีบใส่จีวร แล้วออกมารวมกัน
เพื่อไปฟังเทศน์แล้วก็ “ลงอุโบสถ”
วันพระใหญ่อย่างนี้ จะมีการ “ลงอุโบสถ” ไป “ฟังปาติโมกข์” ซึ่งปาติโมกข์นี้ก็คือ ศีลทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อ ที่จะมาทบทวนกัน ในหมู่พระ
ในพระอุโบสถของวัด

นึกขึ้นได้ ว่ายังไม่ได้ “ปลงอาบัติ” ก็ปลงอย่างรวดเร็วกับหลวงพี่อีกท่านหนึ่ง
การปลงอาบัติก็คือการสารภาพว่าได้ทำผิดศีลบางข้อ
อาจจะรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี ให้ภิกษุอีกรูปได้ทราบ และก็กล่าวว่า “ต่อไปจะไม่ทำผิดอีก”
ซึ่งการปลงอาบัติ จะไม่ใช่การสารภาพบาปแล้วบาปหมดไป เช่นในศาสนาคริสต์ครับ

ปกติแล้ว จะปลงอาบัติกันทุกวัน แต่ก่อนที่จะเข้าอุโบสถ ก็เป็นธรรมเนียมว่าควรจะทำก่อนเข้าอุโบสถ แล้วเมื่อปลงอาบัติแล้ว ก็ไม่ควรจะทำผิดศีล
ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องที่ไม่รู้ตัว เช่น ยืนฉันน้ำ เป็นต้น

ฟังเทศน์ตอนบ่ายที่ลานหินโค้งจากพระอาจารย์มหาสหัสฯ ซึ่งท่านก็บรรยายธรรมได้สนุกทีเดียว

จากนั้นเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ก่อนจะเข้าไปในอุโบสถเพื่อฟัง “ปาติโมกข์”

การสวดทวนศีล ๒๒๗ ข้อนี้ ได้ยินมาว่าทั้งวัด มีสวดได้ประมาณ ๗ รูป
พระรูปที่ท่อง ต้องท่องโดยไม่ดูหนังสือ
ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อ ส่วนพระรูปอื่นๆ จะมีหนังสือดูประกอบกันไป ไม่ให้ผิดพลาด

ซึ่งพระรูปที่ท่องในวันนี้ เราทึ่งมาก เพราะคล่องสุด ๆ

นั่งกันอยู่ในพระอุโบสถค่อนข้างนาน เสร็จแล้วออกมาฉันน้ำปานะที่โยมเตรียมถวายที่ศาลาหอฉัน เป็นน้ำมะนาว

จากนั้นก็กลับกุฏิ…

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ…

 

 

ป้ายกำกับ: ,

ใต้ประทีบธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๕

ช่วงนี้ ไฟในการอัพบล๊อกกำลังมาแรง ก็ขอต่อกันเลยดีกว่า

ขอชี้แจงนิดนึงว่า ประสบการณ์การบวชนี้ เป็นตอนที่เราเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อปีที่แล้ว คือ ปี ๒๕๕๓ แต่ว่างเว้น ลืมบ้าง และไม่มีเวลาบ้าง เรื่องราวจึงไม่ได้ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น สำหรับในตอนที่ ๕ นี้ ก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ครับผม

วันที่ ๒๕ นี้เป็นวันอาทิตย์ มีคนมาทำบุญ ใส่บาตรกันที่วัดเยอะกว่าปกติมาก ในวันหยุดเช่นนี้ พระนวกะต้องมารับบาตร จากญาติโยมสองครั้ง ครั้งแรกคือตอนเช้า ตามปกติ หลังออกบิณฑบาต ส่วนอีกครั้งคือ ช่วงก่อนเพล และก็ฉันเพลที่ลานหินโค้งเลย

ฉันเช้าเสร็จก็ก่อนเก้าโมง กลับกุฏิทำธุระได้สักครึ่งชั่วโมง – สี่สิบห้านาที ก็ได้เวลากลับมานั่งที่ลานหินโค้งเตรียมรับบาตร ตอนสิบโมงครึ่ง ระหว่างนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนา โดยพระอาจารย์ผู้ใหญ่ในวัด วันอาทิตย์ ถ้าท่านเจ้าอาวาส ไม่ติดธุระที่ไหน ท่านก็จะลงมาแสดงเอง นี่เป็นประเพณีที่สืบทอด มาจากหลวงปู่ปัญญานันทภิกขุ ที่ได้เริ่มต้นการแสดงธรรมเทศนาในวันอาทิตย์ไว้

วันนี้ ช่วงก่อนเพล เรียกว่า รับบาตรฟูลออพชั่น จากญาติโยมของเราเอง นอกจากนี้ โยมมาทำบุญกันเยอะมาก เรียกว่าพระก็ลำบากเหมือนกัน คือรับบาตรกันแทบไม่ทัน ของที่รับบาตรไม่สามารถฉันได้ทุกอย่าง ต้องเก็บสิ่งที่จะฉันไว้ในบาตร แล้วนำของที่ไม่ฉัน วางไว้ข้างหลัง แล้วลูกศิษย์วัด ก็จะมาเก็บลงกะละมัง เพื่อนำไปบริจาคต่อไป ในวันที่มีคนมาทำบุญเยอะอย่างนี้ ทั้งพระ เณร และศิษย์วัดก็ทำหน้าที่แทบไม่ทัน ของกองเต็มหลังพระ ไม่มีที่วาง ส่วนโยมก็มีจิตศรัทธา ทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง non-stop

เหนื่อยหน่อย แต่ก็ชื่นใจว่า แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ยังมีผู้คนที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา พร้อมทำบุญกันอยู่มาก และต่อเนื่อง ทุกเพศ ทุกวัย ในวัดชลประทานนี้ ภาพคุณแม่ คุณพ่อ จูงลูกมาใส่บาตร คุณลูกที่เป็นผู้ใหญ่ จูงคุณแม่คุณพ่อที่อยู่ในวัยชรามาทำบุญกัน มีให้เห็นอยู่ทุกวัน

ส่วนในเรื่องการเรียนพระธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในกิจวัตรของพระนวกะ ที่วัดชลประทานฯ ในวันนี้ ไม่มีเรียนตอนบ่าย เพราะพระอาจารย์ติดธุระ
ในเวลาว่างตอนบ่าย ได้อ่านหนังสือ ของท่านพุทธทาส และหลวงปู่ปัญญาฯ รู้สึกได้ความรู้เพิ่ม และเป็นคำสอนที่ทรงคุณค่าต่อพระพุทธศาสนามาก

บ่ายสาม เริ่มทำ “วาระ” คือทำเวรนั่นเอง ของเรา อยู่กลุ่มที่ล้างห้องน้ำ ในกุฏิสี่เหลี่ยม ซึ่งก็คือกุฏิของพระนวกะนั่นเอง

ตอนเย็น ไม่มีอะไร หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ ก็จำวัด(นอน) เท่านั้นเอง

แล้วติดตามตอนต่อไปนะครับ

 

ป้ายกำกับ: , ,

ใต้ประทีปธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ ๒

ออกจากกุฏิ มาถึงโรงเรียนพุทธธรรมก็พบเพื่อนนาค มากันเต็มแล้ว
พอใกล้ตีห้า พระอาจารย์ก็เริ่มสอนวิธีการนุ่งผ้าขาว
ซึ่งก็เหมือนกับการนุ่งสบง เวลาเป็นพระแล้ว

วิธีการก็คือ จับปลายผ้าให้เท่ากัน พับเข้ามา ทางซ้ายหรือขวาก็ได้ สองทบ ทบละประมาณ ๑๐ ถึง ๒๐ เซนติเมตร แล้วก็พับไปอีกด้าน สลับไปมา จนมาถึงเอว แล้วก็เอาประคด (หรือสายรัด) รัด
เวลารัด ก็ต้องรัดที่เอว เข็มขัดที่เตรียมๆ กันไป ส่วนใหญ่จึงใช้ไม่ได้ เพราะปกติเรารัดเข็มขัดกันที่สะโพกครับ

วันนี้ ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว ยัดเข้าในผ้านุ่ง

กินข้าวเช้า เป็นข้าวต้มกุ๊ย กับกับข้าวสองอย่าง
เสร็จก็มานั่ง เตรียมตัวไปพบญาติ พ่อแม่ เพื่อขอขมาลาโทษ ก่อนจะบวชเป็นพระ ซึ่งที่วัดนี้ ก็ไม่มีแบบแผนการขอขมา ให้คิดเองว่าจะพูดว่าอะไร

หกโมงกว่าๆ  ก็ได้ออกมาจากโรงเรียนพุทธธรรมเพื่อไปขอขมาลาโทษบิดามารดา
เราร้องไห้เลย เพราะคิดถึงพ่อมาก

ประมาณเจ็ดโมง เป็นพิธีบวชเณร ที่ลานหินโค้ง
เณรบวชหมู่ได้ เลยบวชพร้อมกันหมด พอกล่าวคำขอบรรพชาเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าหาพระอุปัชฌาย์ทีละคน ๆ ท่านก็จะคล้องอังสะให้ แล้วก็เดินไปด้านหลังหินโค้ง ให้พระอาจารย์แต่งตัวให้ การห่มจีวรในวันแรกนี้ เรียกว่า “ห่มดอง”
(ตอนนี้ยังไม่มีรูป ถ้ามีรูปแล้วก็จะเอาขึ้นเว็บมาให้ดูกัน)

ห่มดอง นี้จะใช้สำหรับเวลาพระลงอุโบสถ หรือในพิธีการ

เมื่อมานั่งที่เดิม ก็รับศีล สิบข้อ
พระอุปัชฌาย์ก็จะให้หลักกรรมฐานเบื้องต้น

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ
ผม  ขน เล็บ ฟัน หนัง

เป็นเครื่องพิจารณาร่างกาย ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นของเน่า เป็นสิ่งสกปรกทั้งนั้น
เมื่อเกิดอารมณ์ที่ไม่นิ่ง แล้วพิจารณาห้าอย่างเหล่านี้ ก็จะทำให้จิตใจสงบลงได้ จึงถือว่าเป็นกรรมฐานเบื้องต้น

เมื่อบวชเณรเรียบร้อย ก็จะแบ่งครึ่งหนึ่งเข้าโบสถ์เพื่อบวชเป็นพระเลย ส่วนครึ่งหลัง รอหลังเพล ถึงจะเข้าโบสถ์ เพราะมีเณร หกสิบรูป บวชหมดไม่ทัน

ตอนเช้าเราจึงมีเวลาว่าง ได้ถ่ายรูป และได้นั่งคุยกับญาติโยมที่มา

ใกล้เวลาเพล พระอาจารย์เรียกไปนั่ง ฉันอาหารมื้อแรกของเพศบรรพชิต

ตอนบ่าย รวมกันเข้าโบสถ์
วิธีบวชนี้ เรียกว่าเป็นการบวชต่อหน้าหมู่สงฆ์

เข้าไปในโบสถ์หมดพร้อมกันก็จริง แต่จะบวชได้คราวละสามรูปเท่านั้น
หลังจากให้พระอุปัชฌาย์มอบบาตรให้แล้ว ท่านก็จะบอกฉายาพระภาษาบาลี
แล้วก็ถอยออกมายืน พระคู่สวด จะออกมาถาม เป็นภาษาบาลี ว่า เป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ หรือไม่ เป็นมนุษย์รึเปล่า เป็นบุรุษหรือเปล่า พ่อแม่ยินยอมให้บวชหรือไม่ จากนั้นก็เดินเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ แล้วพระคู่สวดก็จะถามอีกครั้ง (ครั้งแรกคือการซ้อม)

เป็นพิธีที่ดูดีมาก เพราะทุกอย่างเป็นภาษาบาลี
บวชเสร็จเรียบร้อยก็ประมาณสี่โมงแล้ว ลงมาเรียนห่มจีวร แล้วก็เตรียมแบ่งสายบิณฑบาต

เราได้อยู่ “สายพบสุข”
แต่ละสายจะมีหลวงพี่ พระเก่า เป็นหัวหน้าสาย นำ
ใครบ้านใกล้ ก็จะได้เดินสายที่ผ่านบ้านตัวเอง

สายเรา มีกิตติศัพท์ลือนามว่าไกล เศษกรวดเล็ก ๆ ก็เยอะ
หลวงพี่สายเรามีสามท่าน ชื่อ หลวงพี่เมย์ หลวงพี่เบียร์ และหลวงพี่เป้

แบ่งสายก็มานั่งคุย ๆ กับหลวงพี่สายที่บนชั้นสองโรงเรียนพุทธธรรม คุยกันไปจนทุ่มครึ่ง
หลวงพี่สายก็จะสอนสวดให้พร สอนห่มจีวร สอนการถือบาตร รับบาตร อะไรต้องระวังบ้าง

ก่อนจะพาไปดูสถานที่นัดแนะสำหรับตีห้าสิบห้า วันรุ่งขึ้น

ยังไม่มีทำวัตรเช้า จึงตื่นตีสี่ได้อยู่

เรื่องราวต่อไปจะเป็นยังไง โปรดติดตามครับ

 

ป้ายกำกับ: , ,